วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เสนอ กสทช. กำกับบริษัทมือถือ ออกเบสิคแพ็คเกจ


แฉหลังพบโปรโมชั่นมือถือมั่ว โปรหลักโปรเสริม แถมใช้เลห์บีบผู้บริโภคจ่ายแพงกว่าเดิม ๒ เท่า ด้วยแพ็คเกจเหมาจ่ายราคาสูงขึ้นแต่ไม่เกิน ๙๙ สตางค์ต่อนาที อนุกรรมการฯชี้ทางออกต้องมี เบสิคแพ็คเกจ คิดค่าโทรตรงไปตรงมา ตามประกาศอัตราขั้นสูงฯ

ดร.ไพบูลย์  ช่วงทอง อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมว่า การคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงเพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งบังคับใช้เฉพาะบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด ๒ รายคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็ดเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น พบว่า ผู้บริโภคยังประสบปัญหาในการใช้บริการดังต่อไปนี้คือ

๑) ผู้บริโภคถูกบริษัทเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนโปรโมชั่น เนื่องจากบริษัทมิได้ปรับลดค่าบริการตามรายการส่งเสริมการขายต่างๆให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงฯ พ.ศ. ๒๕๕๕ ให้อย่างอัตโนมัติ ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการเสียค่าบริการในอัตราไม่เกิน ๙๙ สตางค์ ต่อนาที ต้องเลือกรายการส่งเสริมการขายที่บริษัทจัดไว้ให้ และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย 

๒) บริษัทฯ ยังคงเรียกเก็บค่าบริการเกิน ๙๙ สตางค์ เช่น คิดค่าโทรนอกเครือข่ายและนอกเวลาส่งเสริมการขาย ๑.๒๙ บาทต่อนาที โดยอ้างว่าเป็นการเรียกเก็บตามรายการส่งเสริมการขายเดิมจนกว่าระยะเวลาส่งเสริมการขายเดิมจะสิ้นสุด 

๓) บริษัทฯมีการกำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการขายที่มีอัตราค่าบริการสูงขึ้น โดยไม่มีทางเลือกให้กับผู้บริโภค  เช่น กำหนดให้ต้องใช้ รายการ คุยสะใจ ค่าบริการขั้นต่ำรายเดือน ๓๕๐ บาท โทรทุกเครือข่าย ๓๖๐ นาที จากเดิมที่ผู้ร้องอาจใช้บริการเพียง ประมาณ ๒๐๐ บาทต่อเดือน

และ ๔) บริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการขาย เช่น รายการโทรสะใจ อัตราค่าโทรคิดแบบเหมาจ่ายคือ ๒.๗๕ บาท โทรได้ ๓ นาที เฉลี่ยนาทีละ ๙๒ สตางค์ โทรเกิน ๓ นาทีคิดนาทีละ ๕๐ สตางค์ ทุกเครือข่ายตลอด ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งหากผู้ใช้บริการโทรเพียง ๑ นาทีก็ต้องจ่ายค่าบริการในราคาเหมาจ่ายคือ ๒.๗๕ บาท 

          “จนถึงขณะนี้เกือบครบ ๙๐ วันของการบังคับใช้ประกาศอัตราขั้นสูงแล้ว บริษัทยังไม่มีการดำเนินการปรับลดอัตราค่าบริการเสียงให้กับผู้บริโภคแบบอัตโนมัติ แต่อ้างรายการส่งเสริมการขายเดิม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศ กสทช.  ทั้งยังเอาเปรียบโดยหากผู้ใช้บริการต้องการใช้รายการส่งเสริมการขายที่เป็นไปตามกฎหมายจะต้องเสียเงินค่าเปลี่ยนโปรโมชั่นเองทั้งที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  นอกจากนี้บริษัทยังได้ออกรายการส่งเสริมการขายใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นไปตามกฎหมายแต่รายการส่งเสริมการขายดังกล่าวก็มีราคาสูงและเกินกว่าความจำเป็นของผู้บริโภคในการใช้บริการ เช่น กรณีที่ผู้ร้องใช้โทรศัพท์โทรไม่ถึง ๒๐๐ นาที แต่ถูกบังคับด้วยโปรโมชั่น เหมาจ่าย ๓๕๐ บาท โดยได้ ๓๖๐ นาที เท่ากับต้องจ่ายนาทีละ ๑.๗๕ บาท แม้บริษัทจะไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่ผู้ร้องต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากขึ้นจากเทคนิคของบริษัท “ดร.ไพบูลย์กล่าว

                อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมกล่าวต่อไปว่า  สิ่งที่ต้องพิจารณานอกจาก สำนักงาน กสทช.  ควรต้องเร่งดำเนินการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ให้เป็นจริงแล้ว ควรมีการกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าบริการแบบ Basic package หรือการมีโปรหลัก โดยให้ผู้บริโภคได้เลือกจากพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการใช้งานของตน  ไม่มีสิทธิพิเศษเพิ่ม แต่ค่าบริการเรียกเก็บตามประกาศอัตราขั้นสูงฯ หรือเรียกเก็บตามที่ได้มีการใช้บริการจริง ขณะที่โปรโมชั่น หรือรายการส่งเสริมการขายคือสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถเลือกเพื่อไปเสริมการใช้งานทั่วไปของตน และส่วนใหญ่จะมีการกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิไม่นาน เช่น ๓๐ วัน หรือ ๑๒ รอบบิล ขณะที่โปรหลักจะไม่มีการกำหนดระยะเวลา

                “กสทช. ควรกำหนดนิยามของคำว่า รายการส่งเสริมการขาย และกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าบริการให้ชัดเจน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอัตราค่าบริการ ไม่ควรนำเรื่อง Basic package มาปนกันมั่วกับส่งเสริมการขายแบบเหมาจ่าย เพราะจะทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ กสทช. จึงต้องเข้าไปกำกับให้มีโปรหลัก และให้มีอัตราค่าบริการของ โปรหลักต่างๆไม่เกิน ๙๙ สตางค์ต่อนาที ส่วนรายการส่งเสริมการขายแบบเหมาจ่าย ก็ต้องหมายถึงโปรเสริมซึ่งผู้บริโภคมีโอกาสเลือกได้ว่าจะจ่ายเพิ่มหรือไม่ ถ้าผู้บริโภคเลือกไม่จ่ายเพิ่ม ค่าบริการทุกนาทีของเขาก็จะต้องไม่เกิน ๙๙ สตางค์โดยผลของกฎหมาย” ดร.ไพบูลย์กล่าว\

                ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.56 มีเรื่องร้องเรียนกรณีเรื่องอัตราขั้นสูงค่าบริการเสียงจำนวน ๓๐๐ กว่าเรื่อง

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

อนุฯ คุ้มครองผู้บริโภค หวั่น 345 เรื่องโทรคมนาคมล่าช้า กระทบผู้บริโภค

ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ แย้ง กทค. ยันเรื่องร้องเรียน 345 เรื่อง ทำงานตามขั้นตอน ชี้เรื่องล่าช้าเกิดจากสำนักงาน กสทช.ดองเรื่องไม่เสนอบอร์ด กทค. หวั่นปัญหาตกผู้บริโภค...


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวกับสำนักงาน กสทช. ในกรณีความขัดแย้งเรื่องร้องเรียนล่าช้า 345 เรื่อง และทำงานตามขั้นตอนตามประกาศทุกประการ ส่วนกรณีที่ระบุว่าคณะอนุกรรมการคุ้มครองฯ พิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยไม่เรียกคู่กรณีมาคุยกันนั้น ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาในการพิจารณาทุกกรณีที่มีการร้องเรียนเข้ามา คณะอนุกรรมการคุ้มครองฯ ได้ทำงานอย่างโปร่งใส มีการส่งหนังสือแจ้งคู่กรณีไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ไม่ทราบว่าสาเหตุที่สำนักงานยังไม่ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาเรื่องร้องเรียน 345 เรื่องนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งการทำงานที่ล่าช้าผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ผู้บริโภค เพราะในขณะที่มีการร้องเรียนเข้ามา ผู้บริโภคนั้นได้ถูกตัดการบริการ โดยสิ่งที่ กทค.ต้องทำเร่งด่วน คือ ต้องออกมาชี้ให้ชัดเจนตามประกาศเดิมของ กทช.ว่า ผู้ประกอบการต้องเปิดให้บริการชั่วคราวแก่ผู้บริโภคก่อน จนกว่าข้อร้องเรียนนั้นจะยุติ แต่ที่ผ่านมาไม่มีผู้ประกอบการรายใดเปิดให้บริการแก่ผู้บริโภคเลย

“เรื่องที่บอกว่าคณะอนุฯ ไม่มีการเรียกคู่กรณีมาคุยกันนั้น ไม่จริง เราได้ทำจดหมายไปยังคู่กรณีอย่างน้อย 2 ครั้ง ทุกราย เพราะฉะนั้นสำนักงาน กสทช.ให้โอกาสบริษัทมากกว่าให้โอกาสผู้บริโภค ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาขั้นตอนปฏิบัติทางปกครองใดๆ เลย โดยเรื่องร้องเรียน 345 เรื่องที่เข้ามา ขั้นตอนแรกให้โอกาส 15 วัน ขั้นตอนที่ 2 ให้โอกาสอีก 7 วัน เป็นการให้โอกาสในการชี้แจง 2 ครั้ง ซึ่งบางเรื่องใน 345 เรื่องเป็นเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นมาเป็นปีแล้ว ซึ่งเกิน 30 วัน ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีกรณีการร้องเรียนและตรวจสอบแล้วเข้าข่ายเดียวกัน และขอยืนยันว่าคู่กรณีนั้นเห็นจดหมายแจ้ง 2 ครั้งแน่นอน” นางสาวสารี กล่าว

อ้างอิง http://www.thairath.co.th/content/tech/333013

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

นับถอยหลัง 6 เดือน “ซิมดับ” “หมอลี่” ฟันธง! ทางแก้ดีที่สุดคือเร่งประมูลคลื่น 1800 ยืนยัน กสทช. ต้องไม่ทำผิดกฎหมายโดยอ้างผู้บริโภค

หมอลี่ชี้ทางออกที่ดีที่สุดในการรองรับกรณีการสิ้นสุดสัมปทานของคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ก็คือ กสทช. ต้องเร่งจัดการประมูลคลื่นเพื่อให้เกิดบริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นทางเลือกของผู้บริโภคต่อไป ควบคู่กับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการขยายขีดความสามารถการโอนย้ายค่าย รองรับผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการเสียสิทธิในเลขหมายเดิม ส่วนการยืดสิทธิถือครองคลื่นโดยอ้างว่าเป็นการเยียวยาผู้บริโภคนั้นทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายเต็มที่และขัดต่อหลักการเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานสู่ยุคการออกใบอนุญาต อันเป็นต้นกำเนิดของ กสทช. เอง ดังนั้น กสทช. ต้องแสดงฝีมือที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่ก้าวถอยหลัง
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนที่บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนให้บริการอยู่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของกิจการโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในลักษณะที่บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยุติลง ซึ่งจะทำให้การบริการของค่ายมือถือสองรายหายไป หรืออาจเรียกได้ว่า “ซิมดับ” คือใช้การไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทาย กสทช. โดยเฉพาะกรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ที่จะต้องแสดงฝีมือให้ปรากฏ นั่นคือทำอย่างไรที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างเรียบร้อย เป็นธรรม และที่สำคัญคือถูกต้องตามกฎหมายและกติกาของสังคม
“เรื่องซิมดับไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่าจะมีผลกระทบจริง สิ่งที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนและการเปลี่ยนผ่านเดินไปในกรอบของกฎหมายและเจตนารมณ์การปฏิรูปการถือครองทรัพยากรความถี่ ที่สังคมไทยมีฉันทามติร่วมกันมาก่อนแล้วว่าเราต้องการก้าวข้ามจากยุคสัมปทานมาสู่ยุคการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแล หลักการนี้คือจุดกำเนิดของ กสทช. เอง และปรากฏชัดเจนทั้งในรัฐธรรมนูญและ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ดังนั้น กสทช. ต้องเคารพและต้องแสดงฝีมือให้สังคมไว้วางใจได้”
นายประวิทย์ หรือ “หมอลี่” ระบุว่า ในส่วนของผู้บริโภคนั้น วิธีการดูแลที่ดีต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานคือ ทำให้ทราบและเท่าทันต่อสถานการณ์ที่ว่า เมื่อถึงกลางเดือนกันยายน บริการโทรศัพท์มือถือของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนจะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งคนที่ใช้บริการของทั้งสองรายมีโจทย์ว่าจะต้องหาบริการทดแทน และถ้าหากต้องการรักษาเลขหมายที่ใช้อยู่ก็ควรต้องดำเนินการโอนย้ายค่าย หรือใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability) ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ของ กสทช. ร่วมกับผู้ให้บริการทั้งหมด ที่จะต้องทำให้การโอนย้ายค่ายสามารถรองรับหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการจำนวนมากได้ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า หลังจากได้รับแจ้งจากผู้ใช้บริการแล้วจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ใน 3 วัน
ทั้งนี้ เกี่ยวกับการเตรียมการเรื่องดังกล่าว กสทช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (Personal Communication Network) 1800 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอก กสทช. ซึ่งคณะอนุกรรมการก็ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กทค. แล้ว โดยแนะนำให้เน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลผู้บริโภคแต่เนิ่นๆ และการเพิ่มประสิทธิภาพการคงสิทธิเลขหมาย เช่นเดียวกัน
พร้อมกันนั้น คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เสนอให้ กทค. จัดหาและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจะต้องดำเนินการในสองส่วน ได้แก่ การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ซึ่งที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มีการสั่งการนอกรอบให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำแนวทางการโอนย้ายผู้ใช้บริการและแนวทางป้องกันซิมดับ โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นข้อกฎหมาย อันเป็นที่มาให้คณะอนุกรรมการเสนอว่า เห็นควรให้มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอาจทำโดยบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) หรือโดยเอกชนคู่สัมปทาน นี่จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับที่ บมจ. กสท หรือ CAT เรียกร้องมาโดยตลอด และคราวนี้ยังเริ่มเปิดช่องเพิ่มไปถึงทรูมูฟด้วย
อย่างไรก็ดี กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวคือการทำผิดกฎหมายและจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง โดยจะเป็นเพียงการยืดเวลาของเหตุการณ์ซิมดับออกไป แต่เมื่อไรที่การจัดประมูลคลื่นเสร็จสิ้นและมีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตประกอบกิจการแก่ผู้ชนะการประมูลแล้ว การให้บริการในระบบเดิมนั้นก็ต้องยุติลงอยู่ดี เนื่องจากสิทธิถือครองและใช้คลื่นความถี่ย่อมเป็นของผู้ชนะประมูลที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ ดังนั้นถึงอย่างไรก็ย่อมจะเกิดช่องว่างหรือภาวะซิมดับในช่วงเวลาระหว่างที่รอผู้ชนะการประมูลเตรียมการจัดสร้างโครงข่ายและระบบต่างๆ สำหรับบริการใหม่
“ผมบอกได้เลยว่า การอ้างเรื่องป้องกันซิมดับเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะถึงอย่างไรซิมก็ต้องดับ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง การขยายเวลาจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรแก่ผู้บริโภค แต่แน่นอนว่าจะช่วยผู้ประกอบการให้หารายได้กันต่อไป ปัญหาก็คือในการขยายเวลาบริการก็เท่ากับการไปขยายเวลาการใช้คลื่นความถี่และขยายอายุการอนุญาต รวมทั้งขยายอายุสัมปทานด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องขัดกฎหมาย ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้กิจการโทรคมนาคมไทยต้องหลุดพ้นจากยุคสัมปทานเสียที” นายประวิทย์กล่าว
กสทช.ประวิทย์เปิดเผยด้วยว่า เกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายนั้น ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เองเคยชี้ชัดแล้วว่า เมื่อการอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ก็ถือว่าสิ้นสุดลงด้วย และสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ย่อมต้องกลับคืนไปยังสาธารณะ โดย กสทช. หรือ กทค. มีหน้าที่ในการเข้าไปบริหารจัดการคลื่นความถี่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 บัญญัติไว้
ส่วนกรณีการขยายระยะเวลา คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายชี้ว่า แม้ตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเดิมจะกำหนดให้ กทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ แต่เมื่อมีการตรา พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แล้ว ซึ่งตามมาตรา 45 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรคมนาคมว่าให้กระทำได้ด้วยวิธีการประมูลเท่านั้ประกอบกับแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่ได้มีการกำหนดให้ กสทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่จะไม่มีการพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ ดังนั้น เมื่อระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่สิ้นสุดลง จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการใช้งานคลื่นความถี่ได้
“ผมจึงไม่อยากให้อ้างผู้บริโภคแล้วกำหนดมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่อยากให้เร่งดำเนินการตามหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมอันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ดังนั้น กทค. ต้องไม่ประวิงเวลาในการประมูลคลื่น 1800 อีกต่อไป แต่ต้องเร่งกระบวนการให้เสร็จสิ้นใกล้เคียงกำหนดสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่ง ณ วันนี้เหลือประมาณครึ่งปีพอดี ถ้าเร่งทำก็ทำให้ทันได้ ด้วยวิธีนี้ซิมก็จะดับเพียงไม่นาน แล้วก็มีบริการใหม่บนคลื่นเดิมมาเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคต่อไป” กสทช. ประวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดดขวางเอไอเอสเรียกเก็บค่ารักษาเลขหมายวันละบาท

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม จวกเอไอเอส ได้คืบจะเอาศอก ลุยเอาเปรียบผู้ใช้บริการพรีเพด หลังขอให้มีการกำหนดเวลาได้ ๓๐ วัน ยังไม่สมใจเดินหน้าต่อขอ กทค.อีก จะเก็บค่ารักษาเลขหมาย ๓๐ บาทต่อเดือนหากไม่ใช้บริการ อนุกรรมการฯระบุ เตรียมยกให้เป็นพฤติการณ์ตัวอย่างที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามม. ๓๑ วรรค ๒

( ๑๑ มี.ค. ๕๖) รศ.ศิริศักดิ์ ศุภมนตรี อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมว่า ขณะนี้ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้มีหนังสือมายังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ขอความเห็นชอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด โดยบริษัทฯจะเก็บค่าบริหารจัดการเลขหมายในระบบ กรณีผู้ใช้บริการไม่มีการใช้บริการใดๆ ที่ต้องชำระค่าบริการให้แก่บริษัทฯ ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน ติดต่อกัน ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมีเงินคงเหลือในระบบ บริษัทฯ จะเก็บค่าบริหารจัดการเลขหมายในอัตราวันละ ๑ บาท จนกว่าจะมีการใช้บริการ ทั้งนี้ผู้ใช้บริการจะถูกยกเลิกบริการจัดเก็บค่าบริหารจัดการเลขหมายเมื่อไม่มีจำนวนเงินเหลืออยู่และหลังจากนั้นบริษัทฯจะนำเลขหมายนั้นมาเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บเพื่อเตรียมการจัดจำหน่ายต่อไป

รศ.ศิริศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมมีความเห็นร่วมกันว่า ขอเสนอดังกล่าวของบริษัท เอไอเอส อาจเข้าข่ายการค้ากำไรเกินควร และเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะปัจจุบันบริษัทจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายให้กับ กสทช. เพียง ๒ บาทต่อเดือน อีกทั้งจากราคาตลาดโดยเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการอีก ๒ ราย คือ บริษัท โทเทิ่ลแอดเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) คิดค่าบริการโดยให้ซื้อวันได้ราคา ๒ บาทต่อ๓๐ วัน ขณะที่ ทรูมูฟ จำกัด คิดค่าบริการโดยให้ซื้อวันได้ราคา ๓ บาทต่อ ๓๐ วัน รวมถึงในการใช้บริการโทรคมนาคมโดยปกตินั้น ย่อมมีทั้งบริการที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าบริการและไม่เสียค่าบริการควบคู่กันไป เช่น การโทรออก-รับสาย การส่ง-รับ SMS แม้การใช้บริการที่ผู้บริโภคมิได้จ่ายเงินให้บริษัท เช่น การรับสายโทรเข้า บริษัทฯ ก็ยังได้ประโยชน์ คือ ได้รับค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจากบริษัทผู้ให้บริการที่โทรเข้ามา ดังนั้น หากผู้บริโภคยังมีการใช้งาน แม้เป็นบริการที่ไม่ต้องชำระค่าบริการ บริษัทฯ ก็ไม่ควรที่จะคิดค่าบริหารจัดการเลขหมาย

“ ค่ายอื่น ๑ เดือน ๒ บาท อีกค่ายเก็บ ๑ เดือน ๓ บาท แสดงว่าต้นทุนจริงต่ำกว่านั้น ถ้าดูราคาตลาดก็รู้ว่า บริษัทอื่นให้บริการไม่เกิน ๓ บาทต่อเดือน แต่เอไอเอสคิดค่าบริการเท่ากับ ๓๐ บาท สูงกว่าบริษัทอื่นถึง ๑๐ เท่า เก็บสูงกว่าต้นทุนจริงมากขนาดนี้ เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค เป็นการค้ากำไรเกินควร เมื่อต้นเดือนมกราคมบริษัทเพิ่งเสนอให้มีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการพรีเพดไปแล้ว จากที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลากลายเป็นเติมเงินเท่าไหร่ก็ใช้ได้ ๓๐ วัน ผ่านมาไม่ถึง ๒ เดือน ก็มาเสนอจะเรียกเก็บค่ารักษาเลขหมายเพิ่มเติมอีก และการจะอนุมัติเรื่องนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อ ๑๔ ของประกาศอัตราขั้นสูงของค่าบริการ พ.ศ. ๒๕๔๙ ดังนั้นคณะอนุกรรมการเชื่อว่า กทค.คงไม่เห็นชอบในข้อเสนอนี้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคจำนวนมาก “ รศ.ศิริศักดิ์กล่าว

รศ.ศิริศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อจัดทำ (ร่าง) การกระทำซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ และเห็นว่า ขอเสนอของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการฯจะเร่งจัดทำ(ร่าง) ดังกล่าวเสนอต่อ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมภายในเร็วๆนี้