วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผู้บริโภคพรีเพดถูกบริษัทมั่วนิ่มหักค่าบริการเสริมโดยไม่ได้สมัครใช้มานาน ๕ ปี ร้องเรียน กสทช. ช่วยเหลือขอเงินคืน ประธานอนุกรรมการฯห่วงผู้บริโภครายอื่นแนะควรตรวจสอบการสมัครบริการเสิรมกับเครือข่าย เพื่อยกเลิกบริการและขอเงินคืน เสนอ กสทช. ถือเป็นพฤติกรรมเข้าข่าย ม.๓๑ เอาเปรียบผู้บริโภค ที่ควรดำเนินการอย่างจริงจัง พร้อมเสนอ


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง  ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ยังได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีที่ถูกคิดค่าบริการเสริมรับข้อมูลประเภทข่าว ดูดวงผ่านข้อความสั้น (SMS) โดยที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ โดยมีผู้ร้องเรียนรายหนึ่งใช้บริการโทรศัพท์ระบบเติมเงินระบุว่า ถูกคิดค่าบริการเสริมจากข้อความ เอ็มเอ็มเอสมากว่า ๕ ปีแล้ว โดยที่ไม่เคยสมัครใช้บริการ เหตุที่ทราบเพราะผู้ร้องตรวจสอบกับศูนย์บริการจากนั้นจึงขอยกเลิกและขอเงินคืน โดยบริษัทแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า มีการสมัครรายการเสริมนี้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ซึ่งเท่ากับผู้ร้องถูกหักค่าบริการโดยไม่รู้ตัวมากว่า ๕ ปี ทั้งที่ไม่เคยสมัครและใช้ไม่เป็น

            “ การใช้บริการโทรศัพท์ประเภทเติมเงินมีจุดอ่อนตรงที่ผู้ใช้จะไม่ทราบรายละเอียดการหักค่าบริการของบริษัท เนื่องจากไม่มีใบแจ้งหนี้ เมื่อมีการส่งเอ็มเอ็มเอสมาก็คิดว่าเป็นสแปมธรรมดา ทั้งที่ถูกคิดค่าบริการมาตลอด ๕ ปี ขณะนี้ผู้ร้องบางรายเห็นวิธีการหาเงินเช่นนี้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนซึ่งเดือดร้อนกับภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว กลับต้องมาเสียเปรียบในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงินอีกจำนวนมากที่ถูกหักค่าบริการเสริมโดยที่ตัวเองไม่ทราบ จึงควรตรวจสอบกับผู้ให้บริการว่าได้สมัครบริการเสริมอะไรหรือไม่ตั้งแต่เมื่อไหร่ หากไม่ได้สมัครจะได้แจ้งยกเลิกและให้คืนเงินที่ถูกหักไปทั้งที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ” นางสาวสารีกล่าว            ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมจะได้พิจารณาข้อร้องเรียนนี้แล้วมีความเห็นว่า เมื่อผู้บริโภคไม่ได้สมัครใช้บริการ บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมไม่มีสิทธิคิดค่าบริการเสริม บริษัทจึงต้องคืนเงินค่าบริการเสิรมให้กับผู้ร้องและต้องชำระดอกเบี้ยส่วนต่างในอัตราเท่ากับที่บริษัทกำหนดว่าจะเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระหนี้  อีกทั้งเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ๒๕๕๓ และเป็นอำนาจของ กสทช.ในการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และมีอำนาจในการสั่งระงับการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาบริการเสริมข้อมูลข่าวสารผ่าน เอสเอ็มเอ็สได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น